อัล-มัชฮูรฺ
الـمَشْــهُوْر
1. ความหมาย ก. เชิงภาษาศาสตร์ เป็นนามกรรม (اسم مفعول - อิสมฺ มัฟอูล) จากคำว่า (شَهَرَ - ชะฮะเราะ) แปลว่าทำให้กระจ่างแจ้งหรือทำให้ปรากฏ และที่เรียกเคาะบัรฺประเภทนี้ว่า "มัชฮูรฺ" เพราะการเผยหรือการปรากฏของมัน.
ข. เชิงวิชาการ เคาะบัรฺที่รายงานโดยนักรายงาน 3 คนขึ้นไป –ในทุก ๆ ลำดับ- โดยไม่ถึงขั้นมุตะวาติรฺ.
2. ตัวอย่าง หะดีษ:
"إِنَّ اللهَ لاَ يَقْبِضُ العِلْمَ انتزاعاً يَنْزِعُه"
ความว่า: แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่เก็บความรู้โดยฉับพลันทันด่วน. [1]
3. อัล-มุสตะฟีฎ (الـمُسْتَفِيْض) ก. ความหมายเชิงภาษาศาสตร์ เป็นนามประธาน (اسم فاعل - อิสมฺ ฟาอิล) ของคำว่า (اسْتَفَاضَ - อิสตะฟาเฎาะ) ซึ่งผันมาจากคำ (فاض الماء – ฟาเฎาะ อัล-มาอ์) แปลว่า น้ำได้ท่วมเต็มหรือกระจาย และที่เรียกเคาะบัรฺประเภทนี้ว่า "มุสตะฟีฎ" เพราะการกระจายหรือแพร่ของมัน.
ข. ความหมายเชิงวิชาการ นักหะดีษมีทัศนะที่แตกต่างกันออกเป็น 3 ทัศนะดังนี้
1. มีความหมายเหมือนกับ "มัชฮูรฺ"
2. มีความหมายเฉพาะกว่าคำว่า " มัชฮูรฺ" เพราะเคาะบัรฺ "มุสตะฟีฏ" มีเงือนไขว่าจำนวนของนักรายงานในสายรายงานต้องมีจำนวนเท่ากัน แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของ "มัชฮูรฺ".
3. มีความหมายที่ครอบคลุมกว่าคำว่า "มัชฮูรฺ" นั่นคือตรงกันข้ามกับทัศนะที่สอง. [2]
4. เคาะบัรฺ อัล-มัชฮูรฺที่ไม่ใช่ความหมายเชิงศัพท์วิชาการ นั่นคือเคาะบัรฺที่เป็นที่รู้จักในคำพูดของผู้คนทั่วไปโดยไม่มีเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นมันจึงครอบคลุมถึง
ก. เคาะบัรฺที่มีเพียงสายรายงานเดียว.
ข. เคาะบัรฺที่มีมากกว่าหนึ่งสายรายงาน.
ค. เคาะบัรฺที่ไม่มีสายรายงานเลย.
5. ประเภทของเคาะบัรฺมัชฮูรฺที่ไม่ใช่ความหมายเชิงวิชาการมีอยู่หลายประเภท ที่เป็นที่รู้จักคือ
ก. มัชฮูรฺ (เป็นที่รู้จัก) ในหมู่นักหะดีษโดยเฉพาะ
เช่นหะดีษจากท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ท่านได้เล่าว่า:
أن رصول الله صلى الله عليه وسلم الله عليه وسلم قنت شهراً بعد الركوع يدعو على رعل وذكوان
ความว่า: ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อ่านกุนูตหลังจากรุกูอฺเพื่อสาปแช่งพวกริอฺลฺและซักวาน [3]
ข. มัชฮูรฺ (เป็นที่รู้จัก) ในหมู่นักหะดีษ บรรดาอุละมาอฺ และคนทั่วไป
เช่นหะดีษ:
المسلم من سلم المسلمون من لسانه ويده
ความว่า: มุสลิมคือ ผู้ที่บรรดาพี่น้องมุสลิมของเขาปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา [4]
ค. มัชฮูรฺ (เป็นที่รู้จัก) ในหมู่นักนิติศาสตร์อิสลาม
เช่นหะดีษ:
أبغض الحلال إلى الله الطلاق
ความว่า: สิ่งหะลาลที่อัลลอฮฺกริ้วที่สุดคือการหย่า [5]
ง. มัชฮูรฺ (เป็นที่รู้จัก) ในหมู่นักอุศูล
เช่นหะดีษ:
رفع عن أمتي الخطأ والنسيان وما استكرهوا عليه
ความว่า: ปากกาจะถูกยก (ไม่บันทึก) จากประชาชาติของฉันซึ่งความผิดพลาด หลงลืม และการถูกบีบบังคับ [6]
จ.อัล-มัชฮูรฺ (เป็นที่รู้จัก) ในหมู่นักภาษาศาสตร์ (อาหรับ)
เช่นหะดีษ:
نعم العبد صهيب لو لم يخف الله لم يعصه
ความว่า: บ่าวที่ดีที่สุดคือศุฮัยบฺ หากเขาไม่เกรงกลัวอัลลอฮฺเขาย่อมไม่เชื่อฟังพระองค์ [7]
ฉ. มัชฮูรฺ (เป็นที่รู้จัก) ในหมู่ผู้คนทั่วไป
เช่นหะดีษ:
العجلة من الشيطان
ความว่า: การรีบร้อนมาจากชัยฏอน [8]
6. หุก่มของเคาะบัรฺ มัชฮูรฺ เคาะบัรฺมัชฮูรฺทั้งในความหมายเชิงศัพท์วิชาการและไม่ใช่ความหมายเชิงศัพท์วิชาการ ไม่สามารถบ่งบอกคุณลักษณะได้ว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้องหรือไม่ หากแต่ส่วนหนึ่งจากเคาะบัรฺมัชฮูรฺมีทั้งเศาะหีหฺ หะสัน เฎาะอีฟ และเมาฎูอฺ แต่ว่าหากเคาะบัรฺมัชฮูรฺในความหมายเชิงศัพท์วิชาการเศาะหีหฺแล้ว มันก็มีข้อพิเศษในการให้น้ำหนักเหนือเคาบัรฺอะซีซและเฆาะรีบ.
7. หนังสือที่รวบรวมหะดีษมัชฮูรฺที่เป็นที่รู้จัก หนังสือที่เกี่ยวข้องกับหะดีษมัชฮูรฺที่เป็นที่รู้จัก ณ ที่นี้หมายถึงหะดีษมัชฮูรฺ –ที่รู้จักและแพร่หลาย- ในคำพูดของบุคคลทั่วไป มิได้หมายถึงหะดีษมัชฮูรฺตามหลักศัพท์วิชาการ ซึ่งส่วนหนึ่งจากหนังสือเหล่านั้นคือ.
ก. "อัล-มะกอศิด อัล-หะสะนะฮฺ ฟีมา อิชตุฮิเราะสูลุลลอฮฺ อะลา อัล-อัลสะนะฮฺ"
(المقاصد الحسنة فيما اشتهر على الألسنة) โดยอัส-สะคอวีย์
ข. "กัชฟุ อัล-เคาะฟาอ์ วะ มุซีล อัล-อิลบาส ฟีมา อิชตุฮิเราะสูลุลลอฮฺ มินัล หะดีษ อะลา อัลสินะฮฺ อัน-นาส"
(كشف الخفاء ومزيل الالباس عما اشتهر من الاحاديث على ألسنة الناس) โดยอัล-อัจญ์ลูนีย์
ค. "ตัมยีซ อัฏ-ก็อยยิบ มินัล เคาะบีษ ฟีมา ยะดูรุ อะลา อัลสินะติน นาส มินัล หะดีษ"
(تمييز الطيب من الخبيث فيما يدور على السنة الناس من الحديث) โดยอิบนุ อัด-ดัยบะฮฺ อัช-ชัยบานีย์
-------------
1. บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ มุสลิม อัต-ติรฺมิซีย์ อิบนุมาญะฮฺ และอะหฺมัด.
2. นักวิชาการบางท่านเสริมอีกหนึ่งทัศนะคือ "หะดีษที่ประชาติมุสลิมยึดรับ โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะมีจำนวนนักรายงานหะดีษกี่คน" [ผู้แปล]
3. บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม.
4. บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม.
5. หะดีษนี้ท่านอัล-หากิมกล่าวในหนังสืออัล-มุสตัดร็อกว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง และท่านอัซ-ซะฮะบีย์ก็เห็นพ้องด้วย แต่ด้วยสำนวน "ไม่มีสิ่งใดที่อัล ลอฮฺทรงอนุญาตที่พระองค์กริ้วที่สุดนอกจากการหย่า".
6. อัล-หากิมและอิบนุหิบบานมีทัศนะว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง.
7. ไม่มีแหล่งที่มา
8. บันทึกโดยอัต-ติรฺมิซีย์ และท่านบอกว่าเป็นหะดีษที่หะสัน.